รู้อะไรก็ไม่เท่ารู้งี้…… หากวันนึงเราต้องเป็นโรคร้ายแรง |




‘โรคร้ายแรง’ร้ายแค่ไหน ทำไมถึงจำเป็นต้องวางแผนให้ดี

หลายคนเวลาจะทำประกันสุขภาพ มักจะนึกถึงประกันสุขภาพที่เป็นตัวคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลทั่วไป เช่น ค่าห้อง ค่ายา หรือค่าผ่าตัด เป็นหลัก ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เรามีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล เวลาที่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ในบางกรณี ลำพังประกันสุขภาพที่เป็นค่ารักษาพยาบาลทั่วไป อาจจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่หากเราต้องเข้ารับการรักษาจากการเป็น “โรคร้ายแรง” ขึ้นมา

โรคร้ายแรงที่ว่านี้ ก็คือโรคใดๆก็ตาม ที่สร้างความเจ็บปวดทรมานกับเราอย่างรุนแรง จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ และเป็นโรคที่อาจต้องรักษาโดยแพทย์หรือใช้เครื่องมือเฉพาะทาง รวมถึงอาจใช้เวลาในการรักษายาวนาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ซึ่งตัวอย่างโรคร้ายแรงที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรก
ก็เช่น โรคมะเร็งต่างๆ, โรคหลอดเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน, โรคเกี่ยวกับหัวใจ (เช่นหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย), โรคไตวายเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับปอด (วัณโรค, ปอดอักเสบหรือมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ) เป็นต้น (ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข http://service.nso.go.th/nso/web/statseries/statseries09.html)

เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้ เราจึงควรวางแผนทำประกันสุขภาพให้ครอบคลุมส่วนของโรคร้ายแรงเหล่านี้เอาไว้ด้วย เพราะเราไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยว่า เราจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคอะไร ถ้าเป็นแล้วจะต้องใช้เวลารักษานานแค่ไหน หมดค่ารักษาไปเท่าไหร่

ดังนั้นต่อให้เตรียมเงินค่ารักษาไว้เองเป็นจำนวนมากแค่ไหน หรือมีประกันสุขภาพค่ารักษาพยาบาลทั่วไปอยู่แล้ว ก็ยังอาจจะไม่เพียงพอเลยก็ได้ 

ลักษณะของประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง

    โดยทั่วไปแล้ว ประกันโรคร้ายแรงที่ขายกันอยู่จะมีความคุ้มครองอยู่ 2 แบบคือ

1. แบบคุ้มครองตลอดชีวิต จ่ายเบี้ยคงที่ ครบสัญญามีเงินคืน

มีลักษณะทั่วๆไปดังนี้
  • เป็นแพคเกจที่เหมือนกับซื้อประกันชีวิต + ประกันโรคร้ายแรงเอาไว้เรียบร้อย โดยมีลักษณะของสัญญาคล้ายกับการทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ คือมีการจ่ายเบี้ยช่วงเวลาหนึ่ง (10 หรือ 20 ปี) และจะมีสัญญาคุ้มครองไปจนถึงอายุ 85 , 90 หรือ 99 ปี
  • ค่าเบี้ยจะคงที่ตลอดระยะเวลาที่จ่าย
  • ค่าเบี้ยจะรวมทั้งเบี้ยคุ้มครองชีวิต และเบี้ยคุ้มครองโรคร้ายแรง โดยเบี้ยในส่วนของความคุ้มครองชีวิต จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ (เบี้ยสำหรับคุ้มครองเรื่องโรคร้ายแรงจะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ : หมายเหตุ ก่อนประกาศค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเป็นกฎหมาย)
  • คุ้มครองโรคร้ายแรงทั้ง ระยะเริ่มต้น หรือ ระยะลุกลาม ซึ่งจะจ่ายค่าชดเชยเป็นเปอร์เซ็นจากจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ทำไว้ (เช่น หากตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรงในระยะเริ่มต้น จะจ่าย 20% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย และหากตรวจพบว่าเป็นในระยะลุกลาม จะจ่าย 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือตามวงเงินที่เหลืออยู่)
  • คุ้มครองกรณีหากเสียชีวิต 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย  ไม่ว่าจากโรคร้ายแรงหรือสาเหตุใดๆก็ตาม
  • หากอยู่จนครบสัญญา ก็จะได้รับเงินครบสัญญา 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย เช่นกัน

2. แบบสัญญาเพิ่มเติม คุ้มครองปีต่อปี ต้องจ่ายเบี้ยตลอดอายุสัญญา เบี้ยแพงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง

มีลักษณะทั่วๆไป ดังนี้
  • เป็นสัญญาเพิ่มเติมแยกต่างหาก ที่ต้องเลือกซื้อพร้อมกับประกันชีวิตซึ่งเป็นสัญญาหลัก หรือ ต้องมีสัญญาหลักก่อนจึงจะซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้
  • โดยทั่วไปจะคุ้มครองเฉพาะกรณีตรวจพบในระยะลุกลาม หรือเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงเท่านั้น 
  • โดยทั่วไปจะคุ้มครองไปจนถึงอายุ 70 – 85 ปี
  • ค่าเบี้ยจะถูกปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามอายุ และเป็นเบี้ยแบบจ่ายทิ้ง ปีต่อปี ถ้าไม่เป็นโรคร้ายแรง
  • ค่าเบี้ยช่วยที่อายุยังน้อยๆ จะถูกกว่าแบบแรกค่อนข้างมาก แต่ช่วงหลังๆที่อายุมากขึ้น ค่าเบี้ยจะเริ่มแพงกว่าแบบแรก
  • ค่าเบี้ยประกันไม่สามารถของสัญญาเพิ่มเติมไม่สามารถ นำไปลดหย่อนภาษีสำหรับตัวเองได้


วิธีการวางแผนเลือกทำประกันโรคร้ายแรงอย่างเหมาะสม

เพื่อที่เราจะทำประกันโรคร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เราควรจะประเมินค่าใช้จ่ายที่น่าจะเกิดขึ้นจากการรักษาในโรงพยาบาลที่เราคาดว่าจะใช้บริการเอาไว้ก่อน แล้วทำประกันโรคร้ายแรงที่วงเงินคุ้มครองเป็นจำนวนเท่านั้น เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด (เช่น สำรวจมาแล้วว่าค่ารักษาผ่าตัดหัวใจของโรงพยาบาล A ประมาณ 1 ล้านบาท ก็ควรทำประกันโรคร้ายแรงที่จำนวนเงินเอาประกันภัย 1 ล้านบาท) 
หลังจากที่ประเมินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เหมาะสมได้แล้ว ก็ค่อยมาเลือกว่า จะทำประกันโรคร้ายแรงแบบไหน แบบที่จ่ายเบี้ยคงที่ แต่เบี้ยช่วงแรกจะแพงกว่า หรือแบบเบี้ยปรับตามอายุ ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน เหมาะกับความต้องการที่ต่างกัน ดังนี้

1. แบบคุ้มครองตลอดชีวิต จ่ายเบี้ยคงที่ ครบสัญญามีเงินคืน

ข้อดี
  • เบี้ยคงที่ วางแผนทำประกันได้ง่ายและชัดเจน
  • จ่ายเบี้ยแค่ 10-20 ปี แล้วไม่ต้องจ่ายอีกเลย คุ้มครองครองตลอดอายุสัญญา
  • คุ้มครองตั้งแต่กลุ่มโรคร้ายแรงตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ไม่ต้องรอจนถึงระยะลุกลาม
  • คุ้มครองชีวิตทุกกรณี ไม่ว่าเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงหรือสาเหตุอะไรก็ตาม
  • เบี้ยประกันส่วนของความคุ้มครองชีวิตสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
  • หากอยู่จนครบสัญญา ก็ได้เงินครบกำหนดสัญญาคืนด้วย
ข้อเสีย
  • ค่าเบี้ยต่อปีค่อนข้างแพง ถ้าเลือกทำแล้วอาจเหลือเงินไม่พอไปทำประกันสุขภาพอื่นที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล
  • ต้องมีวินัยในการจ่ายเบี้ยเนื่องจากต้องจ่ายเบี้ยให้ครบตามสัญญา 10-20 ปี หากต้องการยกเลิกในระหว่างอายุสัญญาจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยกเลิก
  • จำนวนโรคร้ายแรงที่ให้ความคุ้มครองน้อยกว่าแบบสัญญาเพิ่มเติม
สรุป
เหมาะกับคนที่เน้นทำเพื่อคุ้มครองโรคร้ายแรงโดยเฉพาะ ที่ต้องการความคุ้มครองตั้งแต่ระยะเริ่มต้นไปจนตลอดชีวิต และต้องการความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต

2. แบบสัญญาเพิ่มเติม คุ้มครองปีต่อปี ต้องจ่ายเบี้ยตลอดอายุสัญญา เบี้ยแพงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง

ข้อดี
  • ทำตั้งแต่อายุยังน้อยมีโอกาสจะได้เบี้ยถูกกว่าแบบจ่ายเบี้ยคงที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากสุขภาพยังแข็งแรง ยังไม่มีประวัติการเจ็บป่วยรุนแรง
  • เนื่องจากเบี้ยช่วงต้นไม่แพง จึงสามารถทำควบคู่กับประกันสุขภาพตัวอื่น โดยเฉพาะตัวคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลได้ ทำให้สามารถวางแผนคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ครอบคลุมมากกว่า
  • สามารถเลือกหยุดจ่ายเบี้ยสัญญาเพิ่มเติมได้ทันทีหากไม่ต้องการต่อสัญญา ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยที่ยังมีความคุ้มครองชีวิตจากสัญญาหลัก และประกันสุขภาพจากสัญญาเพิ่มเติมตัวอื่นๆตามเดิม (ถ้ามี)
  • คุ้มครองโรคร้ายแรงจำนวนมาก ประมาณ 30-40 กว่าโรค
ข้อเสีย
  • ค่าเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปีหรือทุกๆ 5 ปี จึงไม่เหมาะจะทำเพื่อคุ้มครองโรคร้ายแรงในระยะยาว เพราะค่าเบี้ยช่วงอายุหลัง 70 ปีจะแพงมากๆ
  • โดยทั่วไป จะคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงระยะลุกลามเท่านั้น ไม่คุ้มครองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาในระยะเริ่มต้นเอง หรือต้องทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่ารักษาทั่วไปเพิ่มเติม
  • กรณีเสียชีวิต โดยส่วนมากจะคุ้มครองเฉพาะกรณีเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงที่ระบุไว้ตามสัญญา หรือเสียชีวิตโดยมีความเกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรงที่ระบุไว้ตามสัญญาเท่านั้น
สรุป
เหมาะสำหรับคนที่ต้องการคุ้มครองโรคร้ายแรงในช่วงเวลาหนึ่ง และไม่คิดจะคุ้มครองไปจนถึงอายุมากๆ และอยากทำประกันสุขภาพให้ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งค่ารักษาพยาบาลทั่วไป โรคร้ายแรง หรืออุบัติเหตุ ในงบประมาณก้อนหนึ่งที่มี ไม่ได้เน้นเฉพาะโรคร้ายแรงแต่เพียงอย่างเดียว และมีความคุ้มครองชีวิตอยู่แล้ว